Over-Sum Insured, Under-Sum Insured, หลักการเฉลี่ย คืออะไร


การทำประกันอัคคีภัยในทุนประกันภัยที่เหมาะสมคิดอย่างไร
ทุนที่เหมาะสมคือ ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าที่แท้จริงของบ้าน + ทรัพย์สินภายในบ้าน

ตัวอย่าง บ้านเดี่ยว 170 ตร.ม. ทรัพย์สินภายใน 5 แสน คิดอย่างไร 
วิธีคำนวณมูลค่าบ้าน (ไม่รวมฐานราก ไม่รวมราคาที่ดิน)
ใช้พื้นที่ใช้สอยในบ้าน (ตร.ม.) คูณด้วยราคากลางในการก่อสร้างต่อ ตร.ม. ปัจจุบันใช้ตัวเลขที่ประมาณ 8,000- 12,000 บาทต่อ ตร.ม. หรือดูในเอกสารแนบ คลิก ดังนั้น พิ้นที่ใช้สอย 170 ตร.ม. ทุนประกันสำหรับสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก ไม่รวมราคาที่ดิน) = 1,360,000 - 2,040,000 บาท

บวกเพิ่มมูลทรัพย์สินภายในบ้าน

เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องมือ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน (กรณีนี้ 500,000 บาท)

บ้านหลังนี้จึงควรทำทุนประกัน 1,860,000 - 2,540,000 บาท

ทำไมไม่รวมราคาที่ดินไปในทุนประกันบ้าน
ประกันอัคคีภัย ไม่ได้ให้ความคุ้มครองที่ดิน และไม่ว่าจะเกิดภัยใดๆ กับบ้านที่ดินก็ไม่ได้เสียหายไป เช่น ไฟไหม้บ้านทั้งหลัง ที่ดินยังอยู่สามารถกลับมาปลูกบ้านได้ ประกันจึงไม่รวมราคาที่ดินเข้าไปในทุนประกันของประกันบ้าน

Over-Sum Insured  VS  Under-Sum Insured คืออะไร 

กรณีทำประกันภัยสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (Over-Sum Insured) 
เช่น บ้าน(ไม่รวมที่ดิน) และทรัพย์สินภายใน รวมมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ทำทุนประกันภัยไว้ที่ 2 ล้านบาท (200% ของมูลค่าที่แท้จริง)
  • ในกรณีแบบนี้ หากเกิดความเสียหาย ประกันก็จะจ่ายแค่ 100% ของความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินทุนประกัน (ไม่ได้จ่าย 200%)
  • เสียหายทั้งหลังมูลค่า 1 ล้าน ประกันจ่าย 100% ของความเสียหายจริง 1,000,000 เท่ากับ 1,000,000 บาท (ไม่ได้จ่าย 2 ล้านตามทุนประกันที่ทำไว้)
  • เสียหายครึ่งหลังมูลค่า 5 แสน ประกันจ่าย 100% ของความเสียหายจริง 500,000 เท่ากับ 500,000 บาท  
ดังนั้น การทำ Over-Sum Insured ทำให้เสียค่าเบี้ยประกันเกินความจำเป็น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น

กรณีทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (Under-Sum Insured)
เช่น ทรัพย์สินมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ทำทุนประกันภัยไว้เพียง 6 แสนบาท (หรือคิดเป็น 60% ของมูลค่าที่แท้จริง)
  • ในกรณีแบบนี้ หากเกิดความเสียหาย ประกันก็จะจ่ายแค่ 60% ของความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินทุนประกัน
  • เสียหายทั้งหลังมูลค่า 1 ล้าน ประกันจ่าย 60% ของความเสียหายจริง 1,000,000 เท่ากับ 600,000 บาท
  • เสียหายครึ่งหลังมูลค่า 5 แสน ประกันจ่าย 60% ของความเสียหายจริง 500,000 เท่ากับ 300,000 บาท (ไม่ได้จ่าย 5 แสน) 
  • การที่มีการแบ่งความรับผิดชอบโดยประกันออกให้ 60% ผู้เอาประกันรับผิดชอบเอง 40% เรียกว่า “หลักการเฉลี่ย”
ดังนั้นการทำ Under-Sum Insured ทำให้ได้รับความคุ้มครองน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจต้องจ่ายเงินตัวเองเพิ่มในการซ่อม หรือสร้างบ้านใหม่

หลักการเฉลี่ย 
หมายถึง ในกรณีที่จำนวนเงินเอาประกันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินจะถือว่าผู้ เอาประกันภัยได้เอาประกันตัวเองในส่วนต่างนั้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนลดลงตามส่วน

  • กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย เช่น ประกันบ้าน คอนโด ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยคลาดเคลื่อนจากมูลค่าที่แท้จริง แต่ยังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สิน เมื่อเกิดความเสียหายเพียงบางส่วน บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมเสมือนกับที่ได้ทำประกันไว้เต็มมูลค่า
  • กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย เช่น ประกันโรงงาน หอพัก ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามหลักการเฉลี่ย



อัพเดต: 23 ส.ค. 61 - 16:39

ประกันภัยรถยนต์