การตีความหมวดความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (ข้อ 1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน)
เรื่องนี้เกี่ยวกับ:
การตีความหมวดความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก(ข้อ 1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน) ซึ่งพบในกรมธรรม์รถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท
1.2 ความเสียหายต่อทรัพย์สิน บริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และความรับผิดของบริษัทจะมีไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง
อัพเดต: 11 ต.ค. 61 - 21:08
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังต่อไปนี้ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
- (ก) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย คู่สมรส บิดามารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง
- (ข) เครื่องชั่ง สะพานรถ สะพานรถไฟ ถนน ทางวิ่ง ทางเดิน สนามหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยู่ใต้สิ่งดังกล่าว อันเกิดจากการสั่นสะเทือน หรือจากน้ำหนักรถยนต์ หรือน้ำหนักบรรทุกของรถยนต์
- (ค) สัมภาระหรือทรัพย์สินอื่นใดที่นำติดตัวขึ้นบนรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่ บรรทุกอยู่ในรถยนต์ หรือกำลังยกขึ้น หรือกำลังยกลง จากรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่รถยนต์กำลังยกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
- (ง) ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากการรั่วไหลของสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์ เว้นแต่การรั่วไหลนั้นเกิดจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ หรือการรั่วไหลของแก๊สหรือเชื้อเพลิงเพื่อการเดินเครื่องของรถยนต์
- เมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ในความความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเนื่องมาจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์คันเอาประกันภัยแล้ว บริษัทจะเข้ามารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกนั้นแทน หรือในนามของผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตาราง
- สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ที่บริษัทจะต้องเข้ามารับผิดแทนหรือในนามผู้เอาประกันภัยนั้น ให้รวมถึงค่าเสียหายทั้งปวงที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกนั้น ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจะต้องรับผิดจึงมิได้จำกัดเฉพาะความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยตรง แต่รวมถึงค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเช่น ค่าเสื่อมราคาแห่งทรัพย์สิน ค่าขาดประโยชน์การใช้ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย หรือกรณีรถยนต์คันเอาประกันภัยไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำบนทางด่วน ตัวรถยนต์ได้รับความเสียหายมีน้ำมันไหลนองพื้น เจ้าหน้าที่ของการทางพิเศษจำต้องใช้โฟมฉีดขจัดคราบน้ำมัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่ผู้ขับขี่ในฐานะผู้ทำละเมิดต้องรับผิดต่อการทางพิเศษ บริษัทในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องมารับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวแทนผู้ขับขี่ และ/หรือผู้เอาประกันภัยเป็นต้น
- เนื่องจากพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ไม่ได้มีการแยกอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง กับรถยนต์ที่ใช้ทั้งแก๊สและน้ำมันเชื้อเพลิง จึงต้องถือว่า การที่ผู้เอาประกันภัยไปปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้ทั้งแก๊ส NGV (รวมทั้งแก๊ส LPG) และน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ไม่ทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ฉะนั้นหากรถยนต์คันเอาประกันภัยดังกล่าวไปประสบอุบัติเหตุ ทำให้ชีวิตร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เช่น นายพิชัยขับรถยนต์คันเอาประกันภัย (ที่ใช้ทั้งแก๊สและน้ำมัน) ไปประสบอุบัติเหตุชนรถที่นายอวยชัยขับขี่ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารในรถทั้งสองคันได้รับบาดเจ็บ และผลจากแรงกระแทกจากการชนดังกล่าว ทำให้ถังแก๊สได้รับความเสียหาย แก๊สในถังรั่วออกมา เป็นผลให้นายมาที่เดินอยู่บนถนนสำลักแก๊สเสียชีวิต หากอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นความรับผิดตามกฎหมายของนายพิชัย ก็จะต้องถือว่าการบาดเจ็บของผู้โดยสาร และการเสียชีวิตของนายมา เป็นความรับผิดตามกฎหมายของนายพิชัย เนื่องจากอุบัติเหตุ อันเกิดจากรถที่ใช้ บริษัทในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงต้องเข้ามารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แทนหรือในนามของนายพิชัย
- หรือเป็นกรณีที่รถยนต์คันดังกล่าว(ที่ใช้ทั้งแก๊สและน้ำมัน) จอดอยู่เฉยๆ มิได้เกิดชนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นเพราะถังหรือสายแก๊สมีรอยรั่วซึม แก๊สไหลฟุ้งกระจาย เกิดไฟลุกขึ้น ลามไปครอกคนได้รับบาดเจ็บ กรณีดังกล่าวเป็นความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าของรถ ซึ่งเป็นผู้ควบคุม ครอบครองรถที่ไม่ดูแลรักษารถ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จึงเป็นความรับผิดตามกฎหมายจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถที่ใช้ บริษัทจึงต้องเข้ามารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แทนหรือในนามของผู้เอาประกันภัย
- แม้ตามหลักการแล้ว บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยก็ตาม แต่หากความเสียหายที่เกินจากจำนวนเงินเอาประกันภัยนั้น เป็นผลมาจากการชดใช้ที่ล่าช้าของบริษัทเอง บริษัทก็ไม่พ้นความรับผิดในส่วนที่เกินนั้นจะอ้างว่าเกินจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่ได้ เช่น แดงขับรถคันเอาประกันภัยไปประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของเขียว รถยนต์ของเขียวได้รับความเสียหาย เขียวเรียกร้องค่าเสียหายนั้นจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถของแดง บริษัทไม่ยอมจ่าย อ้างว่าอุบัติเหตุนั้นมิได้เกิดจากความประมาทของแดง เขียวจึงนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดให้แดงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขียวเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท ปรากฏว่ากรมธรรม์คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 250,000 บาท/ครั้ง บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขียวเพียง 250,000 บาท โดยอ้างว่าเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยแล้ว ส่วนอีก 20,000 บาท แดงจะต้องเป็นผู้ชดใช้เองไม่ได้เพราะเหตุว่า หากบริษัทชดใช้ให้แก่เขียวแต่แรก ไม่บิดพริ้วบ่ายเบี่ยง บริษัทก็รับผิดชดใช้เพียง 220,000 บาท ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย แต่ค่าเสียหายที่เกินวงเงินเอาประกันภัยเป็นผลมาจากการผิดนัดไม่ชำระหนี้ของบริษัทเอง บริษัทจึงต้องเป็นผู้รับภาระจากการผิดนัดของบริษัทด้วย กรณีดังกล่าว บริษัทจึงต้องรับผิดชดใช้เงินทดแทนเขียวเป็นจำนวน 270,000 บาท
- ในบางกรณีแม้จำนวนเงินความรับผิดจะเกินจำนวนเงินเอาประกันภัยก็ตาม บริษัทก็ยังคงต้องรับผิดเต็มจำนวนความเสียหายที่แท้จริง เช่น แดงขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปชนกับรถยนต์ของดำแดงยอมรับผิดว่าเกิดจากความประมาทของตน ในขั้นเจรจาเรียกร้องค่าเสียหาย ดำเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท จากบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ของแดง บริษัทปฏิเสธโดยอ้างว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทของแดงผู้เอาประกันภัย หรืออาจอ้างว่าความเสียหายที่เรียกร้องสูงเกินจริงก็ตาม ต่อมาดำนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แดงและ/หรือบริษัทชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ดำเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันผิดนัด แม้วงเงินเอาประกันภัยจะมีเพียง 250,000 บาท ก็ตาม บริษัทก็ต้องรับผิดตามจำนวนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษา เพราะเหตุว่าในขั้นเจรจา หากบริษัทไม่บิดพริ้วบ่ายเบี่ยง บริษัทก็รับผิดชอบเพียง 150,000 บาท ไม่เกินวงเงินจำกัดความรับผิด แต่เพราะเหตุบริษัทบิดพริ้วแล้วจะทำให้ผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย
- กรณีรถยนต์ของนายแดงซึ่งทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท ก. ไปประสบอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของนายขาวซึ่งทำประกันภัยประเภท 1 ไว้กับบริษัท ข. ปรากฏว่ารถยนต์ของนายแดงเป็นฝ่ายประมาท แต่นายขาวไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมจากบริษัท ข. จึงไปดำเนินการเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์เอาจากบริษัท ก. บริษัท ก. จะเกี่ยงให้นายขาวไปเรียกค่าซ่อมจากบริษัท ข. ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายขาวเอง โดยอ้างว่าบริษัท ก. และบริษัท ข. มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน (Knock for Knock Agreement) ไม่ได้ นายขาวในฐานะผู้ถูกกระทำละเมิดย่อมสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ก.ได้โดยตรงตามมาตรา 887 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากกรมธรรม์ของบริษัท ก.มีความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกด้วย หรือนายขาวจะเรียกร้องให้บริษัท ข. ผู้รับประกันภัยรถยนต์เป็นผู้ชดใช้ก็ได้ เป็นสิทธิของนายขาวที่จะเลือก และหากนายขาวเรียกร้องจากบริษัท ก. บริษัท ก. จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้นายขาว แล้วไปว่ากล่าวกันเองกับบริษัท ข. ต่อไป
- กรณีรถยนต์คันเอาประกันภัยไปทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เมื่อบริษัทและผู้เสียหายไม่สามารถตกลงราคาค่าเสียหายได้ เนื่องจากบริษัทประเมินค่าเสียหายให้ต่ำ ผู้เสียหายจึงเสนอให้บริษัทเป็นผู้ทำการซ่อม หากบริษัทยังคงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจัดซ่อมให้กับผู้เสียหายแล้ว อาจถือได้ว่าบริษัทมีพฤติกรรมแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าไม่ประสงค์จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตรงตามความเสียหายที่แท้จริง บริษัทจะมีความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 36 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 88 นอกจากนี้รัฐมนตรีอาจเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ ตามมาตรา 59 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
- ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังต่อไปนี้ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
- (ก) ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย คู่สมรส บิดามารดา บุตรของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม หรือครอบครอง โดยผู้เอาประกันภัย ในที่นี้หมายถึง บุคคลที่ถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในกรมธรรม์
- ส่วนผู้ขับขี่ หมายถึง เฉพาะผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ขับขี่อื่น เช่น นายแดงได้ทำประกันภัยรถยนต์ประเภทระบุชื่อผู้ขับขี่ไว้ โดยระบุให้ลูกจ้างทั้งสองของตนเป็นผู้ขับขี่ คือ นายวีระชัย และนายสมหมาย ต่อมานายสมหมายได้ขับรถพาแดงไปทำธุระ แต่ระหว่างทางรถเกิดอุบัติเหตุพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายวีระชัยที่จอดอยู่ข้างทางได้รับความเสียหาย แม้รถจักรยานยนต์ที่ได้รับความเสียหายจะเป็นของนายวีระชัยผู้ที่ถูกระบุชื่อเป็นผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ก็ตาม แต่นายวีระชัยมิใช่ผู้ขับขี่รถยนต์ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งเป็นฝ่ายต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ความเสียหายของรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจึงยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่
- กรณีรถยนต์คันเอาประกันภัยเป็นของบริษัทจำกัด พนักงานของบริษัทจำกัดนั้น นำรถไปใช้แล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้ทรัพย์สินของแดงได้รับความเสียหาย แม้แดงจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจำกัดนั้นก็ตาม แดงก็หาใช่ผู้เอาประกันภัยไม่ ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทจำกัดเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากแดงผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 บริษัทผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายของทรัพย์สินของแดง หรือกรณีเป็นว่ารถยนต์คันเอาประกันภัยเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไปทำละเมิดชนกับรถของบริษัทจำกัด แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นจะมีแดงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ขณะเดียวกัน แดงก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำกัดนั้นเช่นกัน ก็ต้องถือว่ารถของบริษัทจำกัดมิใช่รถของห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้เอาประกันภัยบริษัทจึงยังคงผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของบริษัทจำกัดนั้นด้วย
- ทรัพย์สินที่ถูกยกเว้น ไม่คุ้มครองนอกจากทรัพย์สินที่เป็นของผู้เอาประกันภัย ผู้ขับขี่หรือเป็นของคู่สมรส บิดา มารดา บุตรของบุคคลทั้งสองแล้ว ยังรวมถึงทรัพย์สินที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุม ครอบครองด้วย ส่วนกรณีอย่างไรจึงจะถือได้ว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้เก็บรักษา ควบคุมครอบครองทรัพย์สินนั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป
- เช่น แดงเป็นเจ้าของบ้าน มี เขียวน้องสาวอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นด้วย กรณีดังกล่าวแดงเป็นทั้งเจ้าของและผู้ครอบครองบ้านหลังนั้น ส่วนเขียวแม้จะพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น ก็ไม่ถือว่าเขียวเป็นผู้ครอบครองบ้านหลังนั้นแต่อย่างใด
- หรือ แดงขับรถบรรทุกที่เป็นของดำ ซึ่งทำประกันภัยไว้กับบริษัท A ลากจูงรถพ่วงของนายเขียวที่ทำประกันภัยไว้กับบริษัท B ไปประสบอุบัติเหตุชนรั้วบ้านของนายดำได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าวเป็นการนำรถตัวลาก (รถบรรทุก) ไปลากจูงรถที่มีสภาพเป็นรถพ่วงโดยแท้ แต่เมื่อรถทั้งสองมาลากจูงกัน ถูกควบคุมโดยบุคคลคนเดียว คือ ผู้ขับขี่ตัวลาก จึงถือว่าเป็นรถคันเดียวกัน เท่ากับว่า ทั้งรถบรรทุก และรถพ่วงมีดำและเขียวเป็นเจ้าของ เมื่อไปชนรั้วบ้านของดำเอง จึงเข้าข้อยกเว้นไม่คุ้มครองตาม 1.2 (ก) ของหมวดนี้ บริษัททั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรั้วบ้านของนายดำ
- (ข) เครื่องชั่ง สะพานรถ สะพานรถไฟ ถนน ทางวิ่ง ทางเดิน สนามหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่อยู่ใต้สิ่งดังกล่าว อันเกิดจากการสั่นสะเทือน หรือจากน้ำหนักรถยนต์ หรือน้ำหนักบรรทุกของรถยนต์
- (ค) ทรัพย์สินทุกชนิดที่อยู่ในหรือกำลังยกขึ้น หรือกำลังยกลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นสินค้า หรือเป็นสัมภาระที่บุคคลหนึ่งยกขึ้นไปไว้ในรถยนต์ หรือนำติดตัวขึ้นไปในรถยนต์ เช่น กระเป๋า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หรือของที่ติดตัวผู้ขับขี่ และ/หรือผู้โดยสาร แม้จะเป็นทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ก็จะไม่ได้รับคุ้มครองตาม (ค) นี้
- นอกจากนั้นยังรวมถึงทรัพย์สินที่รถยนต์คันเอาประกันภัยกำลังยกจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เช่นรถยนต์คันเอาประกันภัยเป็นรถที่มีเครนยกสินค้าติดกับตัวรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ประสงค์จะเคลื่อนย้ายสินค้า จึงใช้เครนนั้นยกสินค้าเพื่อเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปไว้อีกจุดหนึ่ง แต่ในระหว่างที่ขนย้าย สินค้าเกิดหลุดจากเครนหล่นลงมา สินค้าได้รับความเสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้า ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม (ค) นี้เช่นกันแต่หากสินค้าที่หล่นนั้นไปโดนบุคคลภายนอก หรือทำให้ทรัพย์สินของบุคคลได้รับความเสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกยังคงได้รับความคุ้มครองในหมวดนี้อยู่ดังที่กล่าวไว้แล้วตอนต้น หรือการรั่วไหลของแก๊สหรือเชื้อเพลิงเพื่อการเดินเครื่องของรถยนต์
- (ง) ทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากการรั่วไหลของสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่บรรทุกอยู่ในรถยนต์ เว้นแต่การรั่วไหลนั้นเกิดจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ หรือการรั่วไหลของแก๊สหรือเชื้อเพลิงเพื่อการเดินเครื่องของรถยนต์
- กรณีนี้เป็นกรณีที่รถยนต์คันเอาประกันภัยนำไปใช้บรรทุกสารเคมีหรือวัตถุอันตราย ต่อมาสารเคมีหรือวัตถุอันตรายนั้นเกิดการรั่วไหล โดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เช่น รถยนต์ที่บรรทุกแก๊สจอดอยู่และแก๊สที่บรรทุกอยู่ในรถเกิดการรั่วไหลทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก กรณีนี้กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกดังกล่าว แต่หากการรั่วไหลดังกล่าวเกิดจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ เช่น รถชนกันหรือรถพลิกคว่ำ หรือการรั่วไหลของแก๊ส หรือเชื้อเพลิง เพื่อการเดินเครื่องของรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยจึงให้ความคุ้มครองรับผิดชอบ
- วัตถุอันตราย หมายถึง วัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่ระบุไว้ในมาตรา 4 เช่น แก๊สหุงต้ม วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ ที่เป็นของเหลวหรือก๊าซ เป็นต้น
คุณอาจสนใจ: