การกรอกใบคำขอประกันอัคคีภัย


การกรอกใบคำขอประกันอัคคีภัย

กรอกรายละเอียดสถานที่ตั้ง บ้าน หรือทรัพย์สินที่เอาประกัน ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจน ในกรณีที่เป็นหมู่บ้าน กรุณาระบุชื่อหมู่บ้านหรือชื่อโครงการ พร้อมที่อยู่ให้ชัดเจน เพื่อให้บริษัทรับประกันประเมินได้ว่า อยู่ในเขตที่รับประกันหรือไม่ เช่น หากมาทราบภายหลังว่าอยู่ในเขตภัยพิบัติ หรือเขตชุมชนแออัด ที่คิดอัตราเบี้ยพิเศษ จะทำให้การเคลมสินไหมมีปัญหา

ระยะเวลาเอาประกันภัย

โดยระบุวันที่เริ่มประกันภัย

รายละเอียดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

  • สิ่งปลูกสร้าง หมายถึง ตัวอาคาร(ไม่รวมรากฐาน)
  • เฟอร์นิเจอร์ หมายถึง การตกแต่งติดตั้งตรึงตรา เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน
  • สต็อกสินค้า (ไม่ใช้กับประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย) หมายถึง วัตถุดิบ สินค้ากึ่งผลิต สินค้าสำเร็จรูป วัสดุบรรจุภัณฑ์ (ระบุประเภทของสินค้าอย่างชัดเจนด้วย)
  • เครื่องจักร (ไม่ใช้กับประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย) หมายถึง เครื่องจักรกล เครื่องมือและอุปกรณ์ส่วนควบ รวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่
  • อื่น ๆ หมายถึง ทรัพย์สินที่ไม่สามารถจัดเข้าในหมวดหมู่ข้างต้นได้ เช่น ระบบลิฟต์ บันไดเลื่อน ฯลฯ

การกรอกจำนวนเงินเอาประกัน

ตัวอย่าง เลือกซื้อทุนประกัน 1 ล้านบาท ต้องแบ่งสัดส่วนตามความเหมาะสม  เช่น
1.สิ่งปลูกสร้างไม่รวมฐานราก 800,000 บาท *
2.ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง 200,000 บาท **
3.ทรัพย์สินอื่นๆ ไม่มี
รวม 1,000,000 บาท เป็นต้น 


* จำนวนเงินเอาประกันสิ่งปลูกสร้างไม่รวมฐานรากคิดจาก จำนวนพื้นที่ใช้สอยเป็น ตร.ม. คูณด้วยค่าก่อสร้างคิดที่ 8000 บาท ต่อตร.ม. เช่น พื้นที่ใช้สอย 100 ตร.ม. ก็จะได้ 100x 8000 = 8 แสนบาท
** ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง สามารถใส่ได้ตามจริง แต่ถ้าใช้การประมาณ ก็คิดที่ 20-30% ของทุนประกัน เช่น ทุน 1 ล้าน จะได้ 2-3 แสนบาท

 

ตัวอย่าง กรณีเลือกซื้อ ทุนประกัน 1 ล้าน มีภัยธรรมชาติ 5 หมื่นบาท (รวมในทุน)
1.สิ่งปลูกสร้าง  800,000 บาท
2.ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง 200,000 บาท
3.ภัยธรรมชาติ 50,000 บาท 
จำนวนเงินเอาประกัน 1,000,000 บาท (1+2) ไม่นำข้อ 3 มารวมเพราะภัยธรรมชาติจะอยู่ในข้อ 1 และ 2 โดยความเสียหายของทรัพย์สินในข้อ 1 หรือ 2 หากเกิดจากภัยธรรมชาติเคลมได้ไม่เกิน 50,000 บาท

 

ใบคำขอเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์

นอกจากตารางกรมธรรม์ที่ได้รับหลังทำประกันแล้ว ใบคำขอคือส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ด้วย หากมีปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เมื่อถึงเวลาพิจารณาในศาล ใบคำขอคือส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ ที่ศาลจะเอามาพิจารณาประกอบด้วยเสมอ จึงควรกรอกให้ครบถ้วน ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกัน

อัพเดต: 3 ม.ค. 63 - 09:32

ประกันภัยรถยนต์