กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
| ||||||||
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (76) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพ ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร เพื่อเอาประกันภัยสำหรับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ต้องเป็นการทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งบิดาหรือมารดาดังกล่าวแต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินสามหมื่นบาท (2) ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้จากการทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว (3) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กรณีการทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าวตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ (4) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาดังกล่าว ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ (5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังนี้ (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (7) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะการทำประกันภัยสำหรับบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทย ข้อ 2 การประกันสุขภาพตามข้อ 1 ให้หมายถึง (1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ (2) การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก (3) การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses) (4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care) ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้ 1. ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย 2. ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน) 3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับประกันภัย 4. จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพตามข้อ 2 จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ข้อ 4 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ข้อ 5 ในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป | ||||||||
|
คุณอาจสนใจ: